Sunday, March 8, 2015

กองทัพมองโกล Mongol Army



โดย ศาสตราจารย์.ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล


ทุกท่านที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติเอเชียน่าจะต้องรู้จักชื่อของ เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ผู้ซึ่งเป็นผู้รวบรวมชนเผ่ามองโกลขึ้นมาเป็นชนชาติเดียวและสถาปนาจักรวรรดิมองโกลอันเกรียงไกร (Mongol Empire) ที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เหนือกว่าจักรวรรดิใดๆในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยความกว้างใหญ่ของจักรวรรดิมองโกลในยุครุ่งเรืองสุดขีดนั้น จากตะวันออกถึงตะวันตกทอดยาวจากตอนกลางของยุโรปกินพื้นที่เอเชียกลางทั้งหมดไปจนจรดขอบมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือจดใต้เริ่มจากประเทศรัสเซียตอนใต้ลงมาถึงตอนบนของประเทศอินเดียและบางส่วนของตะวันออกกลาง 

เรื่องราวของเจงกิสข่านนั้นถึงจะน่าสนใจมาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเขียนถึงในบล๊อกนี้ สิ่งที่ผมต้องการนำมาเล่าให้ฟังคือเรื่องกองทัพมองโกลที่เกรียงไกร หากกล่าวว่าชัยชนะของเจงกิสข่านนั้น นอกจากจะมาจากอัจฉริยภาพในการศึกสงครามของเจงกิสข่าน อีกส่วนน่าจะมาจากการวางแผนและออกแบบกองทัพให้มีความเข้มแข็ง มีวินัยและประสิทธิภาพสูง เราลองมาดูกันว่าจุดเด่นของกองทัพมองโกลที่ออกแบบมาเพื่อมีชัยในการศึกนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง 


 

ขอเริ่มต้นที่เรื่องกองทัพก่อนเลย กองทัพมองโกล มีรูปแบบที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูงและมีกลยุทธหลากหลาย โดยกองทัพจะถูกแบ่งออกเป็นหน่วยเล็กๆ เริ่มตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่สุด ดังนี้ Arbans (10 คน), Zuuns (100 คน), Mingghans (1000 คน) and Tumens (10,000 คน) กลยุทธการรบพุ่งของมองโกลนั้นเน้นไปที่การสร้างความประหลาดใจแก่ข้าศึก เช่น การถอนตัวหลอกให้ข้าศึกย่ามใจก่อนที่จะย้อนรอยกลับมาตลบหลัง หรือการลอบโจมตีด้วยการดึงข้าศึกเข้าไปในพื้นที่ที่มีพลธนูดักไว้ หรือการใช้เชลยศึกเป็นทัพหน้าหรือเป็นเกราะกำบัง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกองทัพข้าศึกแบบซึ่งหน้า กองทัพมองโกลมีรูปแบบการจัดกระบวนทัพเป็นแถวหน้ากระดานเรียงประมาณ 5 แถว แถวละ 1 กองร้อย โดยเริ่มต้นการโจมตีด้วยธนูโดยทหารม้าเบาก่อนตามด้วยใช้ทหารม้าหนักเข้าบดขยี้ ในกรณีที่เจอกองกำลังขนาดใหญ่เคลื่อนที่อยู่ กองทัพมองโกลจะใช้หน่วยรบเร็วขนาดเล็กโฉบเข้าโจมตีทางด้านข้างพร้อมกันหลายด้าน ซึ่งทำให้ข้าศึกเสียรูปขบวน เมื่อต้องโจมตีเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ กองทัพมองโกลก็มีความชำนาญในการใช้เครื่องโยนหิน (Trebuchet) เพื่อทำลายกำแพงเมืองของข้าศึก ถ้าไม่สามารถทำลายกำแพงได้ก็ใช้วิธีล้อมเมืองตัดเสบียงเพื่อให้ข้าศึกอดอาหารและยอมแพ้ นอกจากนี้กองทัพมองโกลยังประกอบไปด้วยหน่วยม้าเร็วหาข่าว (Scout) จำนวนมากที่ถูกส่งออกไปในหลายเส้นทาง เพื่อให้ได้ข้อมูลของข้าศึกมากที่สุดก่อนการรบ


นักรบมองโกล มีชื่อเสียงเรื่องของการรบบนหลังม้า โดยเครื่องแบบของนักรบมองโกลประกอบด้วย เกราะหนังที่มีน้ำหนักเบาหลายชั้นสวมทับเสื้อผ้าไหม หมวกหนังที่คลุมลงมาถึงบ่า นักรบมองโกลจะใช้ม้าสายพันธ์มองโกลที่มีขนาดเล็กแต่แข็งแรงและรวดเร็ว การเคลื่อนที่รวดเร็วทำให้ได้เปรียบข้าศึกที่สวมชุดเกราะหนักและขี่ม้าขนาดใหญ่ที่มีความเชื่องช้า นักรบมองโกลฝึกฝนตัวเองให้สามารถยิงธนูจากบนหลังม้าได้ด้วยความแม่นยำ โดยคันธนูที่ใช้เป็นชนิดที่เรียกว่า Composite Bow ที่มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่อำนาจทะลุทะลวงสูง การใช้ธนูขนาดเล็กทำให้ทหารมองโกลสามารถยิงธนูในขณะขี่ม้าได้หลายทิศทางอย่างคล่องแคล่วมากกว่าคันธนูขนาดใหญ่ สำหรับลูกธนูที่ใช้ในการรบพุ่งส่วนมากเป็นลูกธนูที่มีเสียงหวีด (Whistle Arrow) โดยเสียงของลูกธนูถูกยิงออกไปพร้อมกันหลายๆดอกเสียดสีกับอากาศจะทำให้ข้าศึกเกิดอาการเสียขวัญ นอกจากธนูแล้วนักรบมองโกลยังพกอาวุธอีกหลายชนิดเช่น หอก ดาบสั้น ดาบยาว ขวาน หรือ โซ่ค้อน เป็นต้น  ตามประเภทของนักรบ


ระบบการสื่อสาร ในความเห็นของผมจักรวรรดิมองโกลเป็นจักรวรรดิที่ออกแบบโครงข่ายระบบการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพสูงมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในยุคนั้น (ศตวรรษที่ 12) โดยระบบข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเรียกว่า Yam System ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีย่อยที่เรียกว่า Yam Station ในระยะห่างกันประมาณ 15-40 ไมล์ แต่ละสถานีประกอบไปด้วยคนเฝ้าและม้าจำนวนหนึ่ง เมื่อคนนำสาร (Yam Rider) ผ่านมาที่สถานี เขาจะหยุดพักเติมเสบียงอาหารและทำการเปลี่ยนม้าตัวใหม่ (หรืออาจจะเปลี่ยนคนนำสารด้วยหากจำเป็น) การเปลี่ยนม้าที่มีความใหม่สดทำให้คนนำสารสามารถเคลื่อนที่ได้ระยะทางที่มากในแต่ละวัน (ประมาณ 200-300 ไมล์ต่อวัน) ว่ากันว่าในกรณีที่ต้องการส่งข่าวสารที่ลับและด่วนมากๆ คนนำสารจะต้องเป็นคนเดิมเท่านั้น ห้ามพัก โดยเขาอาจจะถึงกับต้องกินข้าวและขับถ่ายปัสสาวะบนหลังม้าเลยทีเดียว โดยมองโกลให้ความสำคัญกับระบบนี้มาก ถึงขนาดออกกฎให้กองทัพต้องให้การสนับสนุนในทุกกรณีและห้ามไม่ให้ใครก็ตามสามารถหยุดคนนำสารได้จนกว่าเอกสารนั้นจะส่งมาถึงมือผู้รับ ในยุคของกุไบลข่าน (Kublai Khan) ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของจักรวรรดิมองโกล จำนวนสถานีย่อยเหล่านี้น่าจะมีจำนวนถึง 1400 สถานีและใช้ม้าถึง 50000 ตัว  


ระบบเสบียงอาหาร ในยุคต้นก่อนที่มีการจัดตั้งเมืองหลวง นักรบมองโกลจะเคลื่อนย้ายครอบครัวเคลื่อนที่ไปพร้อมกับกองทัพหลวง ฟังดูอาจจะงงๆแต่เป็นเรื่องจริง ทั้งนี้ ชนเผ่ามองโกลเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เวลาย้ายถิ่นฐาน พวกเขาจะยกหรือเก็บบ้านไปด้วย เช่นเดียวกันในช่วงของการออกรบ บ้านและครอบครัวของนักรบก็จะเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกับกองทัพหลวงแต่ไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการรบพุ่ง โดยครอบครัวที่ตามมากับกองทัพหลวงก็ทำให้หน้าที่ในการจัดหาเสบียงส่งให้กับทัพหน้า อย่างไรก็ตามในกรณีของหน่วยย่อยที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นระยะไกลมากๆ นักรบมองโกลจะถูกสอนให้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสามารถเฉพาะตัว เช่น การพกเบ็ดตกปลา การล่าสัตว์ การพกเนื้อบดแห้งที่พองตัวออกเวลาต้มกับน้ำ (Borts) นอกจากนี้ในหน่วยย่อยแต่ละหน่วยก็ยังมีการนำม้าสำรองประมาณ 3-4 ตัวที่มีความสามารถให้นมได้ติดไป โดยนักรบสามารถดื่มนมหรือกินเนื้อม้าได้ในกรณีที่อาหารที่พกพามาหมด

เรื่องราวของกองทัพมองโกลอันเกรียงไกรจริงๆมีมากกว่านี้ แต่ผมขอจบบทความนี้ด้วยคำเปรียบเปรยสั้นๆ ตามนี้ เคยมีคนกล่าวว่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้สั้นนัก ถ้าเปรียบเสมือนเงาที่ทอดลงบนผืนโลก คนธรรมดาจะมีเงาที่ทอดลงสั้น กินพื้นที่น้อยและจางหายรวดเร็ว แต่สำหรับบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงนั้น เงาของพวกเขาจะทอดยาวและกินระยะเวลานานกว่าจะหายไป เนื่องจากผู้คนจะพากันกล่าวขานชื่อของเขาเหล่านั้นสืบนานเท่านาน ซึ่งเจงกิสข่านก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีเงาที่ทอดยาวบนผืนโลก ตราบจนทุกวันนี้เรื่องราวของเขาทั้งในแง่ดีและไม่ดีก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึง









No comments:

Post a Comment