Wednesday, July 22, 2015

ชุดเกราะซามูไร Japanese Samurai Armor

ชุดเกราะซามูไรญี่ปุ่น(Japanese Samurai Armor)


เรื่องโดย ศ.ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล(นิตยสารคู่บ้านฉบับที่ 45)


ฉบับนี้ Good Design นำออกนอกเรื่องการก่อสร้างไปเรื่องของการออกแบบชุดเกราะที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันตัวแล้ว ยังเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชาติเป็นอย่างดี เรื่องที่นำมาเขียนในคราวนี้ก็เป็นประสบการณ์ตรงจากการเดินทางในปลายปีที่แล้ว โดยผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดการแสดงภายในออกเป็นหลายหมวดหมู่ แต่ส่วนที่ผมสนใจและต้องการจะดูเป็นอย่างมากคือส่วนของที่เป็นของเสื้อเกราะโบราณของญี่ปุ่น เพราะว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่เป็นเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ผมมีโอกาสได้ดูและชื่นชมกับภาพยนต์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับซามูไรและมีความสนใจในเรื่องการแต่งกายของซามูไรญี่ปุ่นเวลาออกศึกเสมอ เมื่อมีโอกาสได้ไปพบของจริง จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ดังนั้น ผมอาจจะเขียนไม่ตรงตามหลักวิชาการหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง ถ้าท่านผู้รู้อ่านพบต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ยินดีน้อมรับคำติชม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาชุดเกราะมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เชื่อกันว่าชุดเกราะโบราณของญี่ปุ่นนั้นได้รับอิทธิพลมาจากชุดเกราะของจีนและเกาหลี โดยมีการใช้วัสดุหลากหลายประเภทในการทำชุดเกราะ เช่น เส้นใยธรรมชาติ หนังสัตว์ ผ้า กระดองเต่า ไม้ไผ่ และ โลหะ ลักษณะเด่นของชุดเกราะของประเทศญี่ปุ่น เป็นชุดเกราะที่ออกแบบมาให้มีลักษณะเบาและทำให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากซามูไรในบางครั้งอาจจะต้องทำการต่อสู่แบบตัวต่อตัว ถ้าชุดเกราะที่ใช้มีความแน่นหนาเกินไป ทำให้เคลื่อนที่ได้เป็นไปได้ยาก

ชุดเกราะซามูไรญี่ปุ่นมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า Dou หรือ Do มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน (ภาพประกอบที่ 1) คือ หมวก (Kabuto) เกราะส่วนหน้าอก (Do) เกราะป้องกันไหล่ (Sode) เกราะป้องกันสะโพก (Kusazuri) และ เกราะป้องกันหน้าขา (Haidate) นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติมเช่น เกราะป้องกันคอและหน้า (Mengu) เกราะป้องกันแขนและมือ (Kote and Tekko) และ เกราะป้องกันหน้าขา (Suneate) ภาพประกอบ 1 ที่นำมาให้ดู เป็นชุดเกราะแบบ Gosoku ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 16 ซึ่งถือเป็นชุดเกราะที่ค่อนข้างสมัยใหม่

ภาพประกอบ 1 องค์ประกอบของชุดเกราะซามูไร (ศตวรรษที่ 16)

ประเภทของชุดเกราะญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้ออกเป็น ประเภทหลักๆ ตามรูปลักษณะของเกราะหน้าอก (Do) ได้ดังนี้

1. Kozane Armor (ภาพประกอบ 2 และ 3) ชุดเกราะชนิดนี้ ส่วนที่เป็นเกราะหน้าอก (Do) ทำขึ้นโดยการเย็บแผ่นไม้ แผ่นหนัง กระดองเต่า หรือ แผ่นเหล็ก ที่ตัดเป็นขนาดสี่เหลี่ยมเล็กๆ สานด้วยเส้นด้ายประกอบกันขึ้นทั้งในแนวนอนและแนวตั้งเป็นชุดเกราะหน้าอก (Lamellar Armor) อาจจะมีการทาเคลือบเงาเพื่อป้องกันความชื้น ชุดเกราะแบบ Kozane นี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยออกได้อีกหลายกลุ่ม เช่น O-yoroi,-maru, Haramaki dou, Hon kozane dou (do) และ Hon-iyozane dou (do) or Nuinobe dou (do) เป็นต้น




ภาพประกอบ 2 รูปแบบการเย็บแผ่นเกราะ Lamellar สำหรับชุดเกราะแบบ Kozane



ภาพประกอบ 3 ชุดเกราะแบบ Kozane (ที่มา Tokyo National Museum)



2.   Tosei-gusoku (ภาพประกอบ 4) ในชุดเกราะประเภทนี้ ส่วนที่เป็นเกราะหน้าอกทำขึ้นมาจากแผ่นเหล็กชิ้นเดียว โดยได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เนื่องจากวิวัฒนาการด้านการตีเหล็กที่ดีขึ้นประกอบกับการเข้ามาของอาวุธปืน ทำให้ซามูไรต้องมีการพัฒนาชุดเกราะให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเองสูงขึ้น การทำเกราะหน้าอกด้วยโลหะเพียงชิ้นเดียวจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันกระสุนปืนที่สูงกว่า ชุดเกราะแบบ Gusoku นั้นสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกหลายกลุ่ม เช่น Okegawa Dou, guskou, Hishinui dou or Hishi-toji dou, Munemenui dou or Unamenui dou  เป็นต้น โดยความแตกต่างของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะอยู่ที่รูปทรงของเกราะ บางกลุ่มจะทำให้มีรูปร่างหน้าตาให้ออกมาคล้ายกับแบบ Kozane แต่ตีขึ้นมาจากเหล็กแผ่นเดียว หรือบางกลุ่มก็เป็นแผ่นเรียบไม่มีลาย (Hotoke dou gusoku) บางกลุ่มก็ได้รับอิทธิพลจากชุดเกราะของยุโรป (Hatomune dou gusoku)  เป็นต้น
 
ภาพประกอบ 4 ชุดเกราะแบบ Tosei-gusoku (ที่มา Tokyo National Museum)
เรื่องราวของชุดเกราะยังมีอีกมาก ที่นำมาเล่าให้ผู้อ่านเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีชุดเกราะอีกจำนวนหนึ่งที่มีชื่อเสียงแต่เราอาจจะไม่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น ชุดเกราะของนักรบธิเบตที่มีความสง่างามและสวยงามมาก ผมได้ไปพบเจอในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของ Scotland ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเขียนเล่าให้ฟังกันอีกครับ หากท่านผู้อ่านสนใจจะหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดเกราะซามูไร สามารถหาอ่านได้ตาม Links ด้านล่างนี้ครับ สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิงและที่มาของรูป










Sunday, March 8, 2015

กองทัพมองโกล Mongol Army



โดย ศาสตราจารย์.ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล


ทุกท่านที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติเอเชียน่าจะต้องรู้จักชื่อของ เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ผู้ซึ่งเป็นผู้รวบรวมชนเผ่ามองโกลขึ้นมาเป็นชนชาติเดียวและสถาปนาจักรวรรดิมองโกลอันเกรียงไกร (Mongol Empire) ที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เหนือกว่าจักรวรรดิใดๆในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยความกว้างใหญ่ของจักรวรรดิมองโกลในยุครุ่งเรืองสุดขีดนั้น จากตะวันออกถึงตะวันตกทอดยาวจากตอนกลางของยุโรปกินพื้นที่เอเชียกลางทั้งหมดไปจนจรดขอบมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือจดใต้เริ่มจากประเทศรัสเซียตอนใต้ลงมาถึงตอนบนของประเทศอินเดียและบางส่วนของตะวันออกกลาง 

เรื่องราวของเจงกิสข่านนั้นถึงจะน่าสนใจมาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเขียนถึงในบล๊อกนี้ สิ่งที่ผมต้องการนำมาเล่าให้ฟังคือเรื่องกองทัพมองโกลที่เกรียงไกร หากกล่าวว่าชัยชนะของเจงกิสข่านนั้น นอกจากจะมาจากอัจฉริยภาพในการศึกสงครามของเจงกิสข่าน อีกส่วนน่าจะมาจากการวางแผนและออกแบบกองทัพให้มีความเข้มแข็ง มีวินัยและประสิทธิภาพสูง เราลองมาดูกันว่าจุดเด่นของกองทัพมองโกลที่ออกแบบมาเพื่อมีชัยในการศึกนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง 


 

ขอเริ่มต้นที่เรื่องกองทัพก่อนเลย กองทัพมองโกล มีรูปแบบที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูงและมีกลยุทธหลากหลาย โดยกองทัพจะถูกแบ่งออกเป็นหน่วยเล็กๆ เริ่มตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่สุด ดังนี้ Arbans (10 คน), Zuuns (100 คน), Mingghans (1000 คน) and Tumens (10,000 คน) กลยุทธการรบพุ่งของมองโกลนั้นเน้นไปที่การสร้างความประหลาดใจแก่ข้าศึก เช่น การถอนตัวหลอกให้ข้าศึกย่ามใจก่อนที่จะย้อนรอยกลับมาตลบหลัง หรือการลอบโจมตีด้วยการดึงข้าศึกเข้าไปในพื้นที่ที่มีพลธนูดักไว้ หรือการใช้เชลยศึกเป็นทัพหน้าหรือเป็นเกราะกำบัง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกองทัพข้าศึกแบบซึ่งหน้า กองทัพมองโกลมีรูปแบบการจัดกระบวนทัพเป็นแถวหน้ากระดานเรียงประมาณ 5 แถว แถวละ 1 กองร้อย โดยเริ่มต้นการโจมตีด้วยธนูโดยทหารม้าเบาก่อนตามด้วยใช้ทหารม้าหนักเข้าบดขยี้ ในกรณีที่เจอกองกำลังขนาดใหญ่เคลื่อนที่อยู่ กองทัพมองโกลจะใช้หน่วยรบเร็วขนาดเล็กโฉบเข้าโจมตีทางด้านข้างพร้อมกันหลายด้าน ซึ่งทำให้ข้าศึกเสียรูปขบวน เมื่อต้องโจมตีเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ กองทัพมองโกลก็มีความชำนาญในการใช้เครื่องโยนหิน (Trebuchet) เพื่อทำลายกำแพงเมืองของข้าศึก ถ้าไม่สามารถทำลายกำแพงได้ก็ใช้วิธีล้อมเมืองตัดเสบียงเพื่อให้ข้าศึกอดอาหารและยอมแพ้ นอกจากนี้กองทัพมองโกลยังประกอบไปด้วยหน่วยม้าเร็วหาข่าว (Scout) จำนวนมากที่ถูกส่งออกไปในหลายเส้นทาง เพื่อให้ได้ข้อมูลของข้าศึกมากที่สุดก่อนการรบ


นักรบมองโกล มีชื่อเสียงเรื่องของการรบบนหลังม้า โดยเครื่องแบบของนักรบมองโกลประกอบด้วย เกราะหนังที่มีน้ำหนักเบาหลายชั้นสวมทับเสื้อผ้าไหม หมวกหนังที่คลุมลงมาถึงบ่า นักรบมองโกลจะใช้ม้าสายพันธ์มองโกลที่มีขนาดเล็กแต่แข็งแรงและรวดเร็ว การเคลื่อนที่รวดเร็วทำให้ได้เปรียบข้าศึกที่สวมชุดเกราะหนักและขี่ม้าขนาดใหญ่ที่มีความเชื่องช้า นักรบมองโกลฝึกฝนตัวเองให้สามารถยิงธนูจากบนหลังม้าได้ด้วยความแม่นยำ โดยคันธนูที่ใช้เป็นชนิดที่เรียกว่า Composite Bow ที่มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่อำนาจทะลุทะลวงสูง การใช้ธนูขนาดเล็กทำให้ทหารมองโกลสามารถยิงธนูในขณะขี่ม้าได้หลายทิศทางอย่างคล่องแคล่วมากกว่าคันธนูขนาดใหญ่ สำหรับลูกธนูที่ใช้ในการรบพุ่งส่วนมากเป็นลูกธนูที่มีเสียงหวีด (Whistle Arrow) โดยเสียงของลูกธนูถูกยิงออกไปพร้อมกันหลายๆดอกเสียดสีกับอากาศจะทำให้ข้าศึกเกิดอาการเสียขวัญ นอกจากธนูแล้วนักรบมองโกลยังพกอาวุธอีกหลายชนิดเช่น หอก ดาบสั้น ดาบยาว ขวาน หรือ โซ่ค้อน เป็นต้น  ตามประเภทของนักรบ


ระบบการสื่อสาร ในความเห็นของผมจักรวรรดิมองโกลเป็นจักรวรรดิที่ออกแบบโครงข่ายระบบการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพสูงมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในยุคนั้น (ศตวรรษที่ 12) โดยระบบข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเรียกว่า Yam System ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีย่อยที่เรียกว่า Yam Station ในระยะห่างกันประมาณ 15-40 ไมล์ แต่ละสถานีประกอบไปด้วยคนเฝ้าและม้าจำนวนหนึ่ง เมื่อคนนำสาร (Yam Rider) ผ่านมาที่สถานี เขาจะหยุดพักเติมเสบียงอาหารและทำการเปลี่ยนม้าตัวใหม่ (หรืออาจจะเปลี่ยนคนนำสารด้วยหากจำเป็น) การเปลี่ยนม้าที่มีความใหม่สดทำให้คนนำสารสามารถเคลื่อนที่ได้ระยะทางที่มากในแต่ละวัน (ประมาณ 200-300 ไมล์ต่อวัน) ว่ากันว่าในกรณีที่ต้องการส่งข่าวสารที่ลับและด่วนมากๆ คนนำสารจะต้องเป็นคนเดิมเท่านั้น ห้ามพัก โดยเขาอาจจะถึงกับต้องกินข้าวและขับถ่ายปัสสาวะบนหลังม้าเลยทีเดียว โดยมองโกลให้ความสำคัญกับระบบนี้มาก ถึงขนาดออกกฎให้กองทัพต้องให้การสนับสนุนในทุกกรณีและห้ามไม่ให้ใครก็ตามสามารถหยุดคนนำสารได้จนกว่าเอกสารนั้นจะส่งมาถึงมือผู้รับ ในยุคของกุไบลข่าน (Kublai Khan) ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของจักรวรรดิมองโกล จำนวนสถานีย่อยเหล่านี้น่าจะมีจำนวนถึง 1400 สถานีและใช้ม้าถึง 50000 ตัว  


ระบบเสบียงอาหาร ในยุคต้นก่อนที่มีการจัดตั้งเมืองหลวง นักรบมองโกลจะเคลื่อนย้ายครอบครัวเคลื่อนที่ไปพร้อมกับกองทัพหลวง ฟังดูอาจจะงงๆแต่เป็นเรื่องจริง ทั้งนี้ ชนเผ่ามองโกลเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เวลาย้ายถิ่นฐาน พวกเขาจะยกหรือเก็บบ้านไปด้วย เช่นเดียวกันในช่วงของการออกรบ บ้านและครอบครัวของนักรบก็จะเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกับกองทัพหลวงแต่ไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการรบพุ่ง โดยครอบครัวที่ตามมากับกองทัพหลวงก็ทำให้หน้าที่ในการจัดหาเสบียงส่งให้กับทัพหน้า อย่างไรก็ตามในกรณีของหน่วยย่อยที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นระยะไกลมากๆ นักรบมองโกลจะถูกสอนให้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสามารถเฉพาะตัว เช่น การพกเบ็ดตกปลา การล่าสัตว์ การพกเนื้อบดแห้งที่พองตัวออกเวลาต้มกับน้ำ (Borts) นอกจากนี้ในหน่วยย่อยแต่ละหน่วยก็ยังมีการนำม้าสำรองประมาณ 3-4 ตัวที่มีความสามารถให้นมได้ติดไป โดยนักรบสามารถดื่มนมหรือกินเนื้อม้าได้ในกรณีที่อาหารที่พกพามาหมด

เรื่องราวของกองทัพมองโกลอันเกรียงไกรจริงๆมีมากกว่านี้ แต่ผมขอจบบทความนี้ด้วยคำเปรียบเปรยสั้นๆ ตามนี้ เคยมีคนกล่าวว่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้สั้นนัก ถ้าเปรียบเสมือนเงาที่ทอดลงบนผืนโลก คนธรรมดาจะมีเงาที่ทอดลงสั้น กินพื้นที่น้อยและจางหายรวดเร็ว แต่สำหรับบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงนั้น เงาของพวกเขาจะทอดยาวและกินระยะเวลานานกว่าจะหายไป เนื่องจากผู้คนจะพากันกล่าวขานชื่อของเขาเหล่านั้นสืบนานเท่านาน ซึ่งเจงกิสข่านก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีเงาที่ทอดยาวบนผืนโลก ตราบจนทุกวันนี้เรื่องราวของเขาทั้งในแง่ดีและไม่ดีก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึง









Saturday, March 7, 2015

พระโพธิสัตว์ในท่านั่งครุ่นคิด (Bodhisattva in Pensive Pose)


โดย ศาสตราจารย์ ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล

ช่วงเดือนมีนาคม 2557 (March 2014), ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Hankyong National University ระหว่างที่พำนักในเกาหลี ผมได้มีโอกาสเดินทางไปตมาสถานที่ต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของประเทศเกาหลีใต้ ในกรุงโซล ซึ่งเต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่าต่างๆมากมาย 

ท่ามกลางสมบัติทั้งหลาย มีสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมในฐานพุทธศาสนิกชนอย่างมาก คือ พระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ที่เรียกว่า  Bodhisattva in Pensive Pose ซี่งทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเกาหลีใต้พระพุทธรูปปางนี้หลายรูปและหลายขนาด แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นระดับมากมีอยู่ 2 รูป คือ National Treasure No. 78 และ No. 83


รูปหล่อพระโพธิสัตว์สองรูปนี้ถือเป็นสมบัติประจำชาติของเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพราะได้เคยถูกเชิญให้นำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์สถานในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว (National Treasure No. 83) ซึ่งถือเป็นการออกเดินทางออกจากประเทศเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก ซึ่งกว่าจะได้รับอนุมัติให้ถูกนำออกนอกประเทศได้ ทางพิพิธภัณฑ์สถานได้รับการต่อต้านจากประชาชนเกาหลีใต้พอสมควร แต่สุดท้ายก็ต้านทานกระแสความต้องการชื่นชมของคนอเมริกาไม่ได้ โดยนำไปแสดงที่ New York ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ 


ก่อนจะไปในรายละเอียด ผมขอย้อนอดีตให้ฟังเล็กน้อยเพื่อเป็นการปูพื้นเรื่องราว ประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันเป็นประเทศที่ไม่มีศาสนาประจำชาติครับ เนื่องจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนามีสัดส่วนที่ค่อนข้างกระจายตัว โดยประมาณตามนี้ นับถือศาสนาคริสต์ 29.2% นับถือศาสนาพุทธ 22.8% และ ไม่ยึดถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (No Affiliation) คิดเป็น 46.5% ดังนั้นเวลาท่านไปถามคนเกาหลีใต้ว่าศาสนาประจำชาติคืออะไร เขาจะตอบว่าไม่มีครับ


ถึงกระนั้นก็ตาม ประเทศเกาหลีใต้ก็เคยมียุคทองของพระพุทธศาสนาเช่นกัน โดยหากย้อนไปในอดีตช่วงศตวรรษที่ 6 ประเทศเกาหลีใต้ขณะนั้นอยู่ภายใต้ราชวงศ์ซิลล่า (Silla Kingdom) ซึ่งถือเป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ได้มีการก่อสร้างวัดพุทธขึ้นเป็นจำนวนมาก ศิลปที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาก็ได้รับการพัฒนาให้มีความสวยงามโดยแสดงออกผ่านทางพระพุทธรูปและรูปหล่อต่างๆ


สำหรับรูปหล่อพระโพธิสัตว์ปางครุ่นคิดนี้ ภาษาอังกฤษตามที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ใช้คำว่า Bodhisattva in Pensive Pose หรือคำว่า Maitreya คำบรรยายใต้รูประบุว่าเป็นรูปหล่อของเจ้าชายสิทธัตทะที่ทรงนั่งในท่า dhyāna mudra ซึ่งมีเป็นทางนั่งทำสมาธิโบราณของประเทศอินเดีย โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นท่านั่งบนอาสนะยกสูง ขาซ้ายปล่อยลงจากอาสนะ ขาขวาถูกยกไขว้ขึ้นมาวางบนเข่าซ้าย (ไขว่ห้าง) มือซ้ายวางไปบนข้อเท้าขวา ส่วนมือขวายกขึ้นมาแตะที่หน้า ดวงตาทั้งสองมองต่ำ 
(A classic contemplative pose: one leg pearched up on the other knee, with fingers raised up against the cheek. This pose was derived from the young Indian Prince: Siddhartha Gautama, contemplating the nature of human life.)


National Treasure No. 78
 
National Treasure No. 83

ตามที่ได้เกริ่นนำในช่วงแรก รูปหล่อพระโพธิสัตว์ปางครุ่นคิดของประเทศเกาหลีใต้นั้นมีหลายรูป แต่มีอยู่สองรูปที่มีชื่อเสียงมาก คือ National Treasure No. 78 และ 83 ความแตกต่างของทั้งสองรูปจะอยู่ตรงเสื้อผ้าและมงกุฎที่สวมใส่ โดย No. 78 ซึ่งมีความเก่ากว่าเล็กน้อยมีการแต่งองค์ด้วยเสื้อผ้าและมงกุฏที่มีความงดงามกว่า ส่วน No. 83 เป็นรูปหล่อที่เน้นความเรียบง่าย (ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิเต๋าที่เข้ามาสู่ประเทศเกาหลีใต้)

เป็นที่เชื่อกันว่าศาสนาพุทธ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียก่อนที่จะเผยแพร่มายังแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นถ้ามีรูปหล่อแบบนี้ในเกาหลี ก็แสดงว่าต้องมีรูปหล่อลักษณะเดียวกันทั้งในอินเดีย จีน และ ญี่ปุ่น ผมจึงทำการสืบค้น ก็พบว่ามีจริงๆโดยรูปหล่อส่วนมากจะมีท่าทางคล้ายกันแต่แตกต่างกันในส่วนของเสื้อผ้าและเครื่องประดับ โดยทางอินเดียเน้นเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีความอลังการงดงาม แต่ในส่วนของเกาหลีและญี่ปุ่นจะเน้นความเรียบง่าย ซึ่งเห็นว่าเมื่อศิลปะเดินทางจากที่หนึ่งยังที่หนึ่ง ช่างศิลปะท้องถิ่นก็จะนำอิทธิพลทางความคิดของตัวเองใส่เข้าไปในงานศิลปะนี้ เมื่องานชิ้นนี้เดินทางไปถึงจีน เกาหลีและญี่ปุ่น ก็ถูกอิทธิพลของลัทธิเต๋าที่เน้นความเรียบง่าย ทำให้รูปลักษณ์ของพระพุทธรูปนี้เปลี่ยนไป


[India] A gray schist,
Gandhara, 2nd/3rd century.


[China] Pair of Bodhisattvas 
in the Pensive Pose (marble), 
Northern Qi period (550-557)


[Japan] 7th century. Wood (red pine);
Kōryū-ji Temple, Kyoto, Japan



References 
[http://elogedelart.canalblog.com/archives/2011/01/05/20053176.html]
[http://www.asiasocietymuseum.org/region_object.asp?RegionID=4&CountryID=12&ChapterID=26&ObjectID=488]
[http://www.metmuseum.org/about-the-museum/now-at-the-met/features/2013/pensive-treasure]