Wednesday, July 22, 2015

ชุดเกราะซามูไร Japanese Samurai Armor

ชุดเกราะซามูไรญี่ปุ่น(Japanese Samurai Armor)


เรื่องโดย ศ.ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล(นิตยสารคู่บ้านฉบับที่ 45)


ฉบับนี้ Good Design นำออกนอกเรื่องการก่อสร้างไปเรื่องของการออกแบบชุดเกราะที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันตัวแล้ว ยังเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชาติเป็นอย่างดี เรื่องที่นำมาเขียนในคราวนี้ก็เป็นประสบการณ์ตรงจากการเดินทางในปลายปีที่แล้ว โดยผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดการแสดงภายในออกเป็นหลายหมวดหมู่ แต่ส่วนที่ผมสนใจและต้องการจะดูเป็นอย่างมากคือส่วนของที่เป็นของเสื้อเกราะโบราณของญี่ปุ่น เพราะว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่เป็นเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ผมมีโอกาสได้ดูและชื่นชมกับภาพยนต์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับซามูไรและมีความสนใจในเรื่องการแต่งกายของซามูไรญี่ปุ่นเวลาออกศึกเสมอ เมื่อมีโอกาสได้ไปพบของจริง จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ดังนั้น ผมอาจจะเขียนไม่ตรงตามหลักวิชาการหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง ถ้าท่านผู้รู้อ่านพบต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ยินดีน้อมรับคำติชม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาชุดเกราะมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เชื่อกันว่าชุดเกราะโบราณของญี่ปุ่นนั้นได้รับอิทธิพลมาจากชุดเกราะของจีนและเกาหลี โดยมีการใช้วัสดุหลากหลายประเภทในการทำชุดเกราะ เช่น เส้นใยธรรมชาติ หนังสัตว์ ผ้า กระดองเต่า ไม้ไผ่ และ โลหะ ลักษณะเด่นของชุดเกราะของประเทศญี่ปุ่น เป็นชุดเกราะที่ออกแบบมาให้มีลักษณะเบาและทำให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากซามูไรในบางครั้งอาจจะต้องทำการต่อสู่แบบตัวต่อตัว ถ้าชุดเกราะที่ใช้มีความแน่นหนาเกินไป ทำให้เคลื่อนที่ได้เป็นไปได้ยาก

ชุดเกราะซามูไรญี่ปุ่นมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า Dou หรือ Do มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน (ภาพประกอบที่ 1) คือ หมวก (Kabuto) เกราะส่วนหน้าอก (Do) เกราะป้องกันไหล่ (Sode) เกราะป้องกันสะโพก (Kusazuri) และ เกราะป้องกันหน้าขา (Haidate) นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติมเช่น เกราะป้องกันคอและหน้า (Mengu) เกราะป้องกันแขนและมือ (Kote and Tekko) และ เกราะป้องกันหน้าขา (Suneate) ภาพประกอบ 1 ที่นำมาให้ดู เป็นชุดเกราะแบบ Gosoku ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 16 ซึ่งถือเป็นชุดเกราะที่ค่อนข้างสมัยใหม่

ภาพประกอบ 1 องค์ประกอบของชุดเกราะซามูไร (ศตวรรษที่ 16)

ประเภทของชุดเกราะญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้ออกเป็น ประเภทหลักๆ ตามรูปลักษณะของเกราะหน้าอก (Do) ได้ดังนี้

1. Kozane Armor (ภาพประกอบ 2 และ 3) ชุดเกราะชนิดนี้ ส่วนที่เป็นเกราะหน้าอก (Do) ทำขึ้นโดยการเย็บแผ่นไม้ แผ่นหนัง กระดองเต่า หรือ แผ่นเหล็ก ที่ตัดเป็นขนาดสี่เหลี่ยมเล็กๆ สานด้วยเส้นด้ายประกอบกันขึ้นทั้งในแนวนอนและแนวตั้งเป็นชุดเกราะหน้าอก (Lamellar Armor) อาจจะมีการทาเคลือบเงาเพื่อป้องกันความชื้น ชุดเกราะแบบ Kozane นี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยออกได้อีกหลายกลุ่ม เช่น O-yoroi,-maru, Haramaki dou, Hon kozane dou (do) และ Hon-iyozane dou (do) or Nuinobe dou (do) เป็นต้น




ภาพประกอบ 2 รูปแบบการเย็บแผ่นเกราะ Lamellar สำหรับชุดเกราะแบบ Kozane



ภาพประกอบ 3 ชุดเกราะแบบ Kozane (ที่มา Tokyo National Museum)



2.   Tosei-gusoku (ภาพประกอบ 4) ในชุดเกราะประเภทนี้ ส่วนที่เป็นเกราะหน้าอกทำขึ้นมาจากแผ่นเหล็กชิ้นเดียว โดยได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เนื่องจากวิวัฒนาการด้านการตีเหล็กที่ดีขึ้นประกอบกับการเข้ามาของอาวุธปืน ทำให้ซามูไรต้องมีการพัฒนาชุดเกราะให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเองสูงขึ้น การทำเกราะหน้าอกด้วยโลหะเพียงชิ้นเดียวจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันกระสุนปืนที่สูงกว่า ชุดเกราะแบบ Gusoku นั้นสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกหลายกลุ่ม เช่น Okegawa Dou, guskou, Hishinui dou or Hishi-toji dou, Munemenui dou or Unamenui dou  เป็นต้น โดยความแตกต่างของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะอยู่ที่รูปทรงของเกราะ บางกลุ่มจะทำให้มีรูปร่างหน้าตาให้ออกมาคล้ายกับแบบ Kozane แต่ตีขึ้นมาจากเหล็กแผ่นเดียว หรือบางกลุ่มก็เป็นแผ่นเรียบไม่มีลาย (Hotoke dou gusoku) บางกลุ่มก็ได้รับอิทธิพลจากชุดเกราะของยุโรป (Hatomune dou gusoku)  เป็นต้น
 
ภาพประกอบ 4 ชุดเกราะแบบ Tosei-gusoku (ที่มา Tokyo National Museum)
เรื่องราวของชุดเกราะยังมีอีกมาก ที่นำมาเล่าให้ผู้อ่านเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีชุดเกราะอีกจำนวนหนึ่งที่มีชื่อเสียงแต่เราอาจจะไม่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น ชุดเกราะของนักรบธิเบตที่มีความสง่างามและสวยงามมาก ผมได้ไปพบเจอในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของ Scotland ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเขียนเล่าให้ฟังกันอีกครับ หากท่านผู้อ่านสนใจจะหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดเกราะซามูไร สามารถหาอ่านได้ตาม Links ด้านล่างนี้ครับ สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิงและที่มาของรูป










No comments:

Post a Comment